วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การปกครองสมัยสุโขทัย


การปกครองสมัยสุโขทัยตอนต้น (พ.ศ. 1792 - 1841)


ในช่วงต้นของการสถาปนากรุงสุโขทัยเริ่มจากสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์จนสิ้นสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นการปกครองแบบ พ่อปกครองลูก

การปกครองแบบพ่อปกครองลูกนี้ประชาชนทุกคนเสมือนหนึ่งเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน โดยมีกษัตริย์เป็นหัวหน้าครอบครัว มีอำนาจสูงสุดในการปกครอง แต่ก็มิได้ทรงใช้อำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองแต่เพียงพระองค์เดียว ทรงยินยอมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปกครองด้วย ประชาชนจึงเรียกกษัตริย์ว่าพ่อขุน เช่น พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนรามคำแหง เป็นต้น การปกครองลักษณะนี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับประชาชนว่ามีความใกล้ชิดกันมาก

กษัตริย์นอกจากจะเป็นผู้ปกครองและเป็นเสมือนพ่อแล้ว ยังทรงเป็นตุลาการที่เที่ยงธรรมด้วย จากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวไว้ว่า ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงพระองค์ทรงให้สร้างกระดิ่งแขวนไว้ที่หน้าประตูพระราชวัง เมื่อพ่อขุนทรงทราบเรื่องก็จะออกมาไต่สวนคดีความด้วยพระองค์เอง

นอกจากนั้น ในยามเกิดศึกสงครามพ่อขุนจะทรงเป็นจอมทัพของกองทัพหลวง เมืองขึ้นต่าง ๆ จะต้องเกณฑ์ทัพมาร่วมกันต่อสู้ป้องกันราชอาณาจักรและเมื่อยามบ้านเมืองสงบ พ่อขุนจะทรงออกว่าราชการและดูแลทุกข์สุขของราษฎร เช่น ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์จะทรงออกว่าราชการที่ป่าตาล โดยประทับบนพระแท่นมนังศิลาบาตรเป็นประจำทุกวัน ยกเว้นในวันพระและวันโกน โดยในวันดังกล่าวนี้จะทรงนิมนต์พระเถระให้มาเทศนาสั่งสอนประชาชนเป็นประจำ
การปกครองสมัยสุโขทัยตอนปลาย (พ.ศ. 1841 - 1981)

หลังจากสิ้นสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว กษัตริย์องค์ต่อมา คือ พญาเลอไทย และ พญางั่วนำถม ในช่วงนี้อาณาจักรสุโขทัยเริ่มระส่ำระสวยเมืองต่าง ๆ พากันแยกตัวอิสระไม่ขึ้นต่อกรุงสุโขทัย ภายในบ้านเมืองเกิดความไม่สงบเรียบร้อย มีการแย่งชิงราชสมบัติกันอยู่เนื่อง ๆ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ลักษณะการปกครองแบบพ่อปกครองลูกเริ่มเสื่อมลง

เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) ทรงขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 1890 พระองค์ทรงตระหนักถึงความไม่สงบเรียบร้อยดังกล่าว และทรงเห็นว่าการแก้ปัญหาการเมืองด้วยการใช้อำนาจทางทหารเพียงอย่างเดียวคงทำได้ยาก เพราะกำลังทหารของกรุงสุโขทัยในขณะนั้นไม่เข้มแข็งพอ พระองค์จึงทรงดำเนินนโยบายใหม่ด้วยการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาใช้เป็นหลักในการปกครองอาณาจักร พร้อมกับได้ขยายอำนาจทางการเมืองออกไป

การปกครองที่ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นหลักนี้ เรียกว่า การปกครองแบบธรรมราชา กษัตริย์ผู้ปกครองอยู่ในฐานะธรรมราชาหรือพระราชาผู้ทรงธรรม ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยหลักทศพิธราชธรรม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น